วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สารพิษตกค้าง: ฤๅจะเป็นปัญหาที่เข้าตาจน

หลายต่อหลายครั้งที่ผมพูดถึงปัญหาอุปสรรคของเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรสวนมะม่วง ครั้งนี้ขอนำเอาความทุกข์ยากของผู้ส่งออก และท้ายที่สุด...คงหนีไม่พ้นต้องมาลงที่เกษตรกรทั้งที่ผลิตผักและผลไม้ทุกชนิดไม่เฉพาะมะม่วงเท่านั้น ขอนำมาเล่าสู่กันฟังเผื่อว่าใครมีแนวทางในการร่วมแรงรวมพลังกันแก้ไข ท่านละนิดละหน่อย ผมว่าน่าจะดีกว่าปล่อยเลยตามเลยครับ!!!
กำลังเป็นปัญหาใหญ่ และใหญ่ยิ่งกว่า ภัยธรรมชาติที่ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง หรือภัยที่เกิดจากค่าเงินบาทแข็งตัว(รัฐออกมาพูดว่ายังไม่กระทบผู้ส่งออก ที่ไหนได้เสียหายกันคนละไม่ใช่น้อย หลายคนบอกว่าผู้ส่งออกต้องปรับตัวเอง ไม่เป็นไร? เราต้องรับผิดชอบตัวเราเองกันอยู่แล้วครับ!) วันนี้ขอนำประเด็นสารพิษตกค้าง มาพูดคุย เพื่อหาแนวทางร่วมกันแก้ไข หากปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ รับรอง นโยบายที่เคยบอกว่า “ประเทศไทย” จะเป็นครัวของโลกต้องมีอันพับเสื่อเก็บกลับบ้านอย่างแน่นอน(ตอนนี้ออร์เดอร์ของแต่ละบริษัทฯ ลดลงเฉลี่ยอย่างน้อย 20-30% ผลกระทบ จากภัยธรรมชาติ ค่าเงินบาท และมาตรการดังกล่าว น่าใจหายครับ) หรืออีกไม่ช้าไม่นานคงถูกสั่งระงับทั้งประเทศ ใครจะส่งก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ อียู มารับรองเป็นราย ๆ ไป รายใหญ่ผ่านฉลุย (ไม่แน่) รายย่อยกลับบ้านเก่าแน่นอน...ท้ายสุดเกษตรรายย่อยรับกรรมเหมือนเดิมครับ!!! ไม่มีใครอยากลงมาดูแล เพราะมูลค่ามันจิ๊บจ้อย ช่วยไปผลงานไม่มี ฐานเสียงไม่เพิ่ม นี่คือเหตุผลที่เกษตรกรรายย่อยไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือ และพัฒนาไปไม่ไกลเท่าที่ควร
ผมร่วมประชุมกับผู้ส่งออกส่วนหนึ่ง จำนวนหนึ่งเป็นกรรมการสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทยร่วมปรึกษาหารือ เรานำเอาปัญหาต่าง ๆ ของร่างระเบียบ และประกาศที่กรมวิชาการเกษตรกำลังจะลงนามประกาศใช้(ระเบียบกรมวิชาการเกษตรว่าด้วยการตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตสินค้าพืชตามมาตรฐานหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช พ.ศ.๒๕๕๓ และ ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้สด พ.ศ. .... ) นำมาพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ที่จริงเรื่องของสารพิษตกค้างและเชื้อ มีการประชุมกันมานานและมีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่จนแล้วจนรอดปัญหาต่าง ๆ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม จนในที่สุดกรมจึงใช้มาตรการเด็ดขาด โดยจะออกเป็นระเบียบและประกาศเพื่อควบคุมผู้ส่งออก (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากว่าหนังสือจะวางแผง ระเบียบและประกาศจะชะลอ หรือลงนามไปแล้ว)
อีกด้านหนึ่ง ผู้ส่งออกกำลังพบกับปัญหาที่เป็นเหมือนทุ่นระเบิดที่ระเบิดและรอวันทำลายล้างเผ่าพันนธุ์ผู้ส่งออก ไม่รู้ว่าจะทนเจ็บปวดกันได้มากน้อยแค่ไหน บางรายก็เลิกลาไป บางรายก็เลี่ยงไปส่งประเทศที่มีข้อจำกัดน้อยเพื่อเป็นทางรอดธุรกิจของตนเอง ที่ว่าเป็นเหมือนทุ่นระเบิด ก็คือ เจ้ามาตรการกฏระเบียบที่ทางอียูนำมาใช้ เนื้อหาสาระการทบทวน ครั้งที่ ๑ ของกฎระเบียบ EC Regulation 669/2009 (สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ/สหภาพยุโรป แจ้งให้ทราบ) มีรายละเอียดดังนี้
“ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ตีพิมพ์ผลการ Review ครั้งที่ ๑ ของกฎระเบียบ EC Regulation 669/2009 อันเป็นการแก้ไขภาคผนวกที่ 1 อย่างเป็นทางการ ตาม Commission Regulation (EU) No 878/2010 of 6 October 2010 amending Annex I to Regulation (EC) No 669/2009 implementing Regulation (EC) No 882/2004 of the European Par ligament and of the Council as regards the increased level of official controls on imports of certain feed and food of non-animal origin.
สรุปสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้
๑. EU ให้คงมาตรการตรวจเข้มผักไทยในการตรวจหาสารฆ่าแมลงตกค้างในผัก ๓ ประเภท คือ ผักในกลุ่มมะเขือ (พิกัด ๐๗๐๙ ๓๐ ๐๐, ex ๐๗๑๐ ๘๐ ๙๕) กลุ่มกะหล่ำ (พิกัด ๐๗๐๔, ex ๐๗๑๐ ๘๐ ๙๕) และถั่วฝักยาว (พิกัด ex ๐๗๐๘ ๒๐ ๐๐, ex ๐๗๑๐ ๒๒ ๐๐) ที่ระดับ ๕๐% ทั้งในรูปของผักสด แช่เย็น และแช่แข็ง (fresh, chilled or frozen vegetables)
๒. EU ขยายมาตรการตรวจเข้มในการตรวจหาสารฆ่าแมลงตกค้างในผักไทย อีก ๒ ประเภท คือ ใบผักชี (coriander leaves พิกัด ex ๐๗๐๙ ๙๐ ๙๐) และกะเพรา-โหระพา (holy, sweet basil พิกัด ex ๑๒๑๑ ๙๐ ๘๕) เฉพาะในรูปผักสด (fresh) ที่ระดับ ๒๐%
๓. EU ขยายมาตรการตรวจเข้มในการตรวจหาเชื้อซัลโมแนลล่าในผักไทย อีก ๓ ประเภท คือ ใบผักชี (coriander leaves พิกัด ex ๐๗๐๙ ๙๐ ๙๐) กะเพรา-โหระพา (holy, sweet basil พิกัด ex ๑๒๑๑ ๙๐ ๘๕) และสะระแหน่ (mint พิกัด ex ๑๒๑๑ ๙๐ ๘๕) เฉพาะในรูปผักสด ที่ระดับ ๑๐%
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว จะมีผลตามกฏหมายทันทีที่มีการประกาศกฏระเบียบดังกล่าวใน EU Official Journal กล่าวคือจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในทุกประเทศสมาชิก EU-๒๗ ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไป สำหรับรายละเอียดของกฎระเบียบใหม่นี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็ปไซต์ นี้ http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:2010:264:0001:0006:EN:PDF”

ก่อนที่จะไปถึงประเด็นอื่นผมขอนำเอา กฎระเบียบ Regulation 669/2009 เดิมเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันก่อนซึ่งบางท่านอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน
สหภาพยุโรปออกกฎระเบียบ Regulation 669/2009
เพิ่มระดับการควบคุมสินค้านำเข้าที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช
(Increased level of official controls on imports of certain feed and food of non-animal origin)
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสุขภาพ ได้ลงนามในกฎระเบียบ Commission Regulation (EC) No 669/2009 ว่าด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบ Regulation (EC) No 882/2004 เพื่อเพิ่มระดับการควบคุมสินค้าอาหารและอาหารสัตว์นำเข้าที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช
สาระสำคัญของกฎระเบียบ และผลกระทบที่มีต่อการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ได้แก่
1. ผู้ประกอบการ หรือตัวแทนต้องแจ้งล่วงหน้าซึ่งวันและเวลาที่สินค้าจะมาถึงยังด่านนำเข้าที่กำหนดไว้ (Designated point of entry) รวมทั้งประเภทสินค้า (Nature of consignment) โดยต้องกรอกข้อมูลในส่วนที่ 1 ของเอกสาร และส่งให้กับเจ้าหน้าที่ด่านนำเข้า อย่างน้อย 1 วันก่อนสินค้าไปถึงด่านนำเข้า
2. หน่วยงานรับผิดชอบ ณ ด่านนำเข้าต้องตรวจสอบเอกสารประกอบภายใน 2 วันทำการ (ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้) โดยตรวจสอบรายการ สภาพสินค้า รวมถึงการวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการ ตามความถี่ที่ได้ระบุไว้ในภาคผนวกที่ 1 การตรวจสอบและผลการตรวจสอบให้เป็นไปโดยเร็วตามความเป็นไปได้ทางเทคนิค สินค้าจะไม่ถูกแบ่งกระจายออกหากกระบวนการควบคุมตรวจสอบยังไม่เสร็จสมบูรณ์
3. ภายหลังการสุ่มตรวจสอบตามข้อ 2 ให้หน่วยงานรับผิดชอบ ณ ด่านนำเข้ากรอกข้อมูลในส่วนที่ 2 ประทับตรา และลงนามเอกสาร เอกสารนี้จะแนบไปกับสินค้าจนถึงปลายทางที่ระบุไว้ในเอกสารการนำเข้า ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ด่านอาจอนุญาตให้สินค้าถูกส่งต่อไปโดยรอผลวิเคราะห์ได้ โดยต้องแจ้งให้หน่วยงานรับผิดชอบในประเทศปลายทางที่สินค้าถูกส่งไปทราบ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะยังอยู่ภายใต้การควบคุมตลอดเวลา
4. สินค้าจะได้รับการปล่อยต่อเมื่อผลการตรวจสอบสินค้าแสดงว่าเป็นไปตามมาตรฐาน
5. หากสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ต้องกรอกข้อความในส่วนที่ 3 และดำเนินมาตรการที่กำหนดไว้ในมาตรา 19, 20, 21 ของ Regulation (EC) No.882/2004 เช่น การกัก การทำลาย การสั่งทำทรีทเม้นต์ การส่งต่อสินค้า
6. ให้เจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการทำการควบคุมนี้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ของ Regulation (EC) No.882/2004 จากผู้ประกอบการ
7. ประเทศสมาชิกจะต้องส่งรายงานการตรวจสอบสินค้าที่ระบุในภาคผนวกที่ 1 แก่กรรมาธิการทุกๆ 3 เดือน เพื่อประเมินผล
8. กฎระเบียบนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553
9. สินค้าผักสด แช่เย็น หรือแช่แข็งนำเข้าจากประเทศไทย ได้แก่ ถั่วฝักยาว (Vigna sesquipedalis) มะเขือ (Aubergines) พืชตระกูลกะหล่ำ (Brassica vegetables) จะถูกกักเพื่อสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืช กลุ่มออแกโนฟอสฟอรัส (Organo-phosphorus pesticide residues) โดยอัตราการสุ่มตรวจ 50%

การเข้มงวดในเรื่องของสารพิษตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ เริ่มเข้มข้นมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นปัญหาที่หนักอกสำหรับผู้ส่งออก และเกษตรกร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ต่อไปจะเพิ่มผู้ที่เกี่ยวข้องคือ ผู้นำเข้า เพราะการตรวจเข้ม และการขยายมาตรการนั้นจะกระทำที่ปลายทาง ประเด็นที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น มีการกักสินค้าเพื่อทำการตรวจ จะทำให้คุณภาพสินค้ำไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ที่สุดถ้าเรายอมให้เครมก็ถูกเครมทุกล็อทเพราะใช้เวลาในการกักตรวจ เนื่องจากสินค้าที่เข้าอียูมีมากมายมหาศาล เจ้าหน้าที่และเครื่องมือมีไม่เพียงพอ ห้องเก็บที่ควบคุมอุณภูมิมีไม่เพียงพอ ห้องแล็ป ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อคุณภาพผักและผลไม้ทั้งสิ้น หากไม่ยอมให้เครมก็คงหยุดสั่ง หรือหากพบสารพิษตกค้างหรือเชื้อจุลินทรีย์ คู่ค้าจะพบกับมาตรการที่รุนแรง นับตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการตรวจ ปรับเป็นยูโร ค่าขนสินค้าไปทำลาย การระงับเป็นรายบริษัทที่สุดระงับทั้งประเทศ ที่สำคัญเงื่อนไขเหล่านี้คงไม่หยุดแค่ผักที่ประกาศในมาตรการดังกล่าว หากเรายังละเลย ผมเชื่อเหลือเกินว่าจะขยายลุกลามไปผักตัวอื่น ๆ และที่สุดผลไม้ก็จะติดตามมา สำคัญไปกว่านั้น อียู มีบทบาทในฐานะผู้บริโภคที่มีกำลังการซื้อสูง ดังนั้นการตื่นตัวในเรื่องของความปลอดภัย กำลังขยายตัวคืบคลานไปสู่กลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งตลาดภายในที่ถูกวางระบบโดยห้างสรรพสินค้าที่มีเชื้อสายมาจากยุโรปที่มาตั้งรกรากในประเทศไทย หากเรายังปล่อย ลองหลับตาคิดดูเถิดครับอะไรจะเกิดขึ้นในอีก สามปี ห้าปีข้างหน้า ในขณะที่จีนยักย์ใหญ่เริ่มพลิกตัวและยอมรับ ปรับและพัฒนารองรับกระแสความปลอดภัยโลกอย่างรวดเร็วแล้วครับ...
การส่งออกผลไม้และผักสดนั้น มีผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ เกษตรกรที่เป็นหน่วยผลิต หน่วยงานภาครัฐ (กรมวิชาการเกษตร และกรมอื่นที่เกี่ยวข้อง) ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ดูแล ควบคุม กำหนดนโยบายในฐานะตัวแทนของรัฐ ในเรื่องของความปลอดภัยโดยผ่านขนวนการ GAP (เกษตรกร) ,GMP, HACCP(โรงงานคัดบรรจุ)ในการรับรองและออกใบอนุญาตต่าง ๆ และผู้ส่งออก ด่านหน้าของกองทัพประเทศไทยในการขายสินค้าซึ่งต้องปฏิบัติตามกฏกติกาสากลอย่างเคร่งครัดและมีวินัยเหมือนทหารอย่างนั้น(บางรายไม่ปฏิบัติ) อีกส่วนที่เริ่มมีส่วนเกี่ยวข้อง คือผู้นำเข้าที่ต้องการสินค้าขายในร้านให้ครบถ้วนตามจำนวน แม้ว่าบางครั้งจะผิดเงื่อนไขก็ยอมทำเพื่อให้ธุรกิจของตนเองได้เปรียบคู่แข่งขัน (ยกเว้นห้างสรรพสินค้า) เมื่อมาดูถึงภาระหน้าที่หลักของแต่ละฝ่าย ก็จะเห็นชัดว่า ทุกฝ่ายควรปฏิบัติงานในภาระหน้าที่ของตนเองบนพื้นฐานของจิตสำนึก คุณธรรม อย่างมีวินัย เคร่งครัด และรับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อันได้แก่
เกษตรกร ในฐานะส่วนของผู้ผลิต ควรผลิตสินค้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการรับรอง(GAP) หรืออาจจะขยับขึ้นเป็น Global GAPในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวบนพื้นฐานจิตสำนึก อย่างมีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีวินัย ปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลงไป ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดจิตสำนึก(น้อยนิด) ขาดความรับผิดชอบ ขาดความซื่อสัตย์ เอาตัวรอดก่อน ก่อให้เกิดปัญหาในภาพรวม ใครจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัวเรา โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่มีปัญหาเรื่องของแมลง เชื้อราต่าง ๆ ที่ระบาด ตัวอย่าง เช่น พริกขี้หนูแดง(Red Small Chili) ที่พบมากที่สุดในช่วงฤดูฝน พริกใกล้เก็บเกี่ยวฝนตก เกษตรกรฉีดยา ป้องกันเชื้อรา สองสามวันพริกสุกต้องเก็บเกี่ยว แล้วจะปลอดสารพิษได้อย่างไร ผลไม้ก็เช่นกัน มะม่วงเมื่อใกล้เก็บเกี่ยว อากาศร้อน เชื้อราเริ่มเกิด เกษตรกรบางคนต้องฉีดยาป้องกัน อันนี้ก็หนีไม่พ้นเช่นกัน เป็นต้น
ผู้ส่งออกซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชน ก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังขาดสิ่งดังกล่าว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ท้ายที่สุดก็กลับมาที่ตัวเองอยู่ดี วันที่ประชุมมีบริษัทผู้ส่งออกเข้าร่วมประชุมประมาณ 20 บริษัท ยังมีอีกมากกว่า 200 บริษัท หรือมากกว่านั้น ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม บางบริษัทมีความรับผิดชอบสูง(ไม่ปลอมปน ไม่ลักรอบ ปฏิบัติตามกฏกติกาอย่างเคร่งครัด) ในขณะเดียวกันยังมีอีกหลายบริษัทที่ขาดความรับผิดชอบ มองผลประโยชน์เชิงการแข่งขันทางธุรกิจเป็นหลัก รักษาลูกค้า เพื่อให้ผ่านเงื่อนไขในวันนี้ พอข้างหน้าพบปัญหาก็ปิดบริษัท เปิดใหม่ ข้ออ้างต่าง ๆ เกิดขึ้นภายในใจที่เห็นแก่ตัวตลอดเวลา หากมีสำนึก ความรับผิดชอบ คุณธรรมที่เป็นกรอบยึดถืออย่างเคร่งครัดร่วมกัน มองเห็นผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะหากปลายทางตรวจพบสารเคมีตกค้าง หรือเชื้อจุลินทรีย์ นั่นก็หมายความว่า บริษัทดังกล่าวจะถูกระงับการส่งออก และถูกเรียกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าปรับ หรือระงับทั้งประเทศ ซึ่งแนวโน้มข้างหน้าหลังจากมาตรการเริ่มมีผลบังคับใช้ นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป อะไร ๆ ก็มีสิทธิเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เพราะฝรั่งไม่เหมือนคนไทย ไม่โง่ รู้ทัน และรักษากฏกติกา มีวินัย และรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(คนไทยทั่วไปก็เป็นอย่างนั้นครับ)
ภาครัฐ ที่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไข มาตรการ กฏระเบียบ ที่ต้องควบคุมดูแลให้เงื่อนไขเหล่านั้นเป็นไปตามกฏกติกาที่ทุกคนยอมรับได้ตามมาตรฐานสากล และเที่ยงธรรมภาครัฐที่เป็นส่วนในการควบคุมกติกาจำเป็นต้องออกกฏ ระเบียบ มาเพื่อควบคุมผู้ที่ฝ่าฝืน ทำผิด ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแล เยียวยา ปกป้องผู้ตั้งใจปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริม ดูแล ปกป้อง ผู้ส่งออก ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในการขายผักและผลไม้ให้กับคนทั้งประเทศและทั้งโลกได้บริโภค ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ปกป้อง ดูแล ทั้งเกษตรกร และผู้ส่งออก หากมีแนวทาง มาตรการรองรับ เยี่ยวยา ช่วยเหลือ สนับสนุนอย่างจริงจัง แม้ว่าจะยาก แต่ก็ต้องทำ ผมเองเข้าใจหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะอย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า มูลค่าผักผลไม้ยกเว้น ข้าว ปลาม มันสำปะหลัง ยางพารา ลำไย มังคุด ลองกอง ซึ่งเป็นปัญหาทางเท็คนิค(การเมือง)ที่มีฐานเสียงสนับสนุนมาก จึงมีหลายฝ่ายให้ความสนใจ ผักผลไม้จึงเป็นเสมือนลูกเมียน้อยมานานกว่า 40 ปี ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล ล้มลุกคลุกคลาน “ซ้ำซากอย่างถาวร”
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่ง(เล็กๆ)ที่ก่อให้เกิดปัญหา(ใหญ่) ทำให้ภาพรวมของประเทศเกิดปัญหาตามมา ดังนั้นการกำหนดกฏเกณฑ์ต่าง ๆ เราทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าเกิดจากคนส่วนน้อยที่ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ ผมจำได้ว่า เริ่มต้นมาเมื่อ 4-5 ปี ทุกภาคส่วนระดมกันหาทางแก้ไข ยืดหยุ่น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาต่าง ๆ ยังคงเกิดซ้ำรอยเดิมดูเหมือนไม่ลดน้อยลงเสียด้วยซ้ำ แถมยังขยายตัวและกำหนดเงื่อนไขขึ้นสู่ผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เราเองก็ไม่ชี้แจงเหตุผลอันพึงเชื่อได้ว่าไม่เป็นอย่างนั้น (ในขณะที่ผลของเหตุยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม จึงสรุปว่าไม่มีการแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม และยังคงโทษกันไปโทษกันมา) เมื่อเป็นเช่นนั้น มาตรการต่าง ๆ ดูจะระดมลงมาที่ผุ้ส่งออกอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
ในที่ประชุมเราได้หยิบยกเอาปัญหามาเสวนา หากท่านใดต้องการดูรายละเอียดก็สามารถเปิดดูในเว็ปไซด์ข้างล่างนี้ ส่วนในบทความนี้ผมขอคัดลอกบทลงโทษที่เห็นว่าเป็นบทลงโทษที่ยังไม่ชัดเจน เป็นบทลงโทษสำหรับผู้ส่งออกทั้งหมดที่รุนแรง ยังไม่มีการคัดกรองเอาผู้ส่งออกที่ขาดจิตสำนึก(มีน้อยและเป็นส่วนทำให้เสียหาย) กับบริษัท ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ รักษาชื่อเสียงของตนเองมายาวนาน เพราะนี่คืออาชีพที่สร้างตนเอง และสร้างชาติจนเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก หากท่านลองอ่านบทลงโทษที่ผมคัดลอกแล้วลองพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถึงอย่างไรเราทุกคนก็ควรจะมีส่วนร่วมในการระดมสมอง ร่วมแก้ปัญหาในครั้งนี้หรือครั้งต่อ ๆ ไป ผมยังเชื่อว่า ระเบียบและประกาศนี้แม้ว่าจะนำมาใช้ ปัญหาต่าง ๆ ก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดิม เพราะนี่คือการแก้ที่ปลายเหตุ และหลายท่านอาจจะกล่าว ว่า แก้ที่ปลายเหตุก็ยังดี ทำให้ปัญหาลดลง แต่ผมและอีกหลายคนเห็ว่าแก้ที่ต้นเหตุ ลดลงได้มากกว่า และเป็นการสร้าง จิตสำนึก มโนธรรม และวินัยร่วมกันกับผู้ส่งออกกับเกษตรกร
“๑๔.๓ ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป โดยเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือผลจากการตรวจติดตามพบปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารภายในระยะเวลา ๖ เดือน นับแต่วันที่ได้กระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนตาม ๑๔.๒ และเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนภายหลังวันที่ได้รับแจ้งการพักใช้ใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ตาม ๑๔.๒ แล้ว ให้เพิกถอนใบรับรอง”
“6.3 ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป โดยเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับการแจ้ง
เตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ได้กระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนตาม 6.1 และเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หรือได้รับแจ้งเตือนภายหลังวันที่ได้รับแจ้งการพักใช้ใบรับรองจากเจ้าหน้าที่ตาม 6.2 แล้ว ให้เพิกถอนหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออก”
จากร่างระเบียบและประกาศทั้ง 2 ฉบับ ที่ได้รับทราบทางช่องทาง
http://as.doa.go.th/psco/index.php?option=com_content&view=article&id=67:-9--2553 และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็น ผมในนามของผู้ประกอบการส่งผักและผลไม้ออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ อียู ขอแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างระเบียบและประกาศที่นำเสนอทางช่องทางดั้งกล่าวข้างต้น เพราะเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วเห็นว่ายังมีความคลุมเครือในหลายประเด็นยากต่อการตีความ และอาจเกิดปัญหาในอนาคตหลังประกาศมีผลบังคับใช้ ซึ่งในประเด็นเหล่านั้นไม่เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ส่งออก อีกทั้งร่างดังกล่าวยังมีความสลับซับซ้อนในหลายประเด็นรวมถึงยังไม่ชัดเจนในการตีความในแต่ละหัวข้อ ควรมีการหารือจัดทำรายละเอียดข้อย่อยให้ชัดเจนเพื่อเป็นพื้นฐานในการวินิจฉัยปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังประกาศมีผลบังคับใช้ (การหารือ ควรจัดเวลาให้มีการระดมความคิดได้อย่างเต็มที่ ไม่ควรเสียเวลากับพิธีการเปิด การบรรยายของเจ้าหน้าที่ เหลือเวลาเพียง10-20 นาทีอย่างนี้ไม่เรียกว่าระดมความคิดเห็น)
ตัวอย่างจากการร่างระเบียบและประกาศนั้นยังขาดความละเอียดและชัดเจนในการพิจารณาในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของ ให้เพิกถอนใบรับรอง ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและมีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ร่วม กำหนดรายละเอียดของร่างระเบียบ และประกาศให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในแต่ละประเด็น รวมถึงการกำหนดบทลงโทษซึ่งควรใช้การ “เปรียบเทียบปรับ” แทน “การเพิกถอนใบรับรอง”
หากย้อนกลับพิจารณาต้นเหตุที่เกิดของปัญหา จะพบว่า เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ 1) ต้นน้ำ(เกษตรกร) ขาดความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ประสบการณ์(อันนี้น่าเห็นใจเพราะบางครั้งโดดเดี่ยวไม่รู้จะพึ่งใคร) ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ (เกษตรกรกลุ่มนี้ ต้องหันมาสร้างขบวนการสร้างจิตสำนึก โดยใช้ทั้งการช่วยเหลือแนะนำและลงโทษ) 2)ระบบการรับรองที่ขาดประสิทธิภาพ และไม่เพียงพอ(ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดใจยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้) 3) ผู้ส่งออกที่ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม(อันนี้ ยอมรับว่าผู้ส่งออกที่เห็นกับประโยชน์ส่วนตน ปฏิบัติผิดกติกา ผู้ส่งออกเหล่านี้ต้องมีบทลงโทษอย่างชัดเจน และเป็นระดับของเจตนา ต้องมีขบวนการแยกแยะผู้ส่งออกเหล่านี้ออกจากผู้ส่งออกที่สร้างชื่อเสียง มุ่งมั่นเป็นทัพหน้าสร้างชาติมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานอย่างเป็นธรรม)
ทุกภาคส่วน ควรร่วมรับผิดชอบในส่วนของตนเองอย่างจริงใจ(พูดง่าย ทำยาก แต่ควรทำ) ไม่ควรยกความผิด หรือตั้งสมมติฐานความผิดมาที่ผู้ส่งออกทั้งหมดเพราะ เมื่อเป็นอย่างนั้นฐานความคิดต่าง ๆ จะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น ฐานความคิดที่ว่าผู้ส่งออกได้ผลประโยชน์จากการนี้ฝ่ายเดียวต้องรับผิดชอบ อันที่จริงทุกภาคส่วนได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น (ผลประโยชน์ไม่ใช้แค่ตัวเงิน หมายรวมถึงความดีความชอบ ตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการ การกินดีอยู่ดีของเกษตรกรความ เจริญก้าวหน้าของชุมชนเกษตรกร สังคมและประเทศ) หรือว่าผู้ส่งออกไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ? ข้อความนี้ก็ดูจะฟังแล้วรู้สึกอึดอัดใจอยู่พอสมควร เพราะทุกวันนี้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ในการสร้างตลาดให้กับเกษตรกรและประเทศ เกษตรกรเป็นผู้ผลิต ภาครัฐก็รับผิดชอบในส่วนของการช่วยเหลือสนับสนุนในทุกภาคส่วน โดยมีเงินเดือนซึ่งเป็นภาษีเป็นค่าตอบแทน มีตำแหน่งหน้าที่เป็นโบนัสในความตั้งใจทำงานมีผลงานดีเด่น หากจะถกเถียงประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่มีวันจบสิ้น ควรแบ่งภาคส่วนที่รับผิดชอบให้ชัดเจนว่า ใครมีหน้าที่ทำอะไร บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันอย่างมืออาชีพ ทุกภาคส่วนควรหันมาพัฒนางานร่วมกันเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดความเจริญเติบโต มั่นคง และยั่งยืนอย่ามัวมองว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด ข้าราชการเองก็ต้องตั้งทีมงานมืออาชีพเข้าช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ส่งออก นั่นเป็นภาระกิจหลักที่สำคัญของรัฐ หากมัวคิดแต่ว่าจะทำในส่วนที่รับผิดชอบให้เติบโตอยู่เพียงฝ่ายเดียว ท้ายสุดก็ล้มทั้งระบบ เช่นเดียวกันหากโรงงานถูกเพิกถอนใบรับรองนั่นก็หมายความว่าปิดกิจการที่สุดเกษตรกรเดือดร้อน ประเทศเดือดร้อน หรือราชการไม่เดือดร้อน?
ย้อนกลับมาประเด็นที่ผมเห็นว่าควรยกเลิกและกำหนดบทลงโทษ คืออำนาจในการเพิกถอนใบรับรอง ยกตัวอย่างในเมืองไทย โออิชิที่เคยพบปัญหาปนเปื้อนในต่างประเทศ แม็คโดนอล โค๊ก BP เกิดน้ำมันรั่วไหล ก็ไม่เคยมีการเพิกถอน เพราะบริษัทเหล่านั้นใช้ระบบในการควบคุม การควบคุมด้วยระบบ GMP, HACCP, GAP หรือระบบอื่น ๆ คุม ไม่ได้ 100 % หรือแม้แต่ใน อียู เองก็ยังพบปัญหาเช่นเดียวกับเราอย่างต่อเนื่อง อียู ใช้วิธีการปรับ มิใช่เพิกถอน(หากพบว่าเกษตร หรือผู้ส่งออกมีเจตนาชัดเจนการเพิกถอนก็ดูจะสมเหตุสมผลอยู่เช่นกัน) ในขณะเดียวกัน เมื่อพบจากนอก อียู เอง ก็จะปรับผู้นำเข้า และผู้นำเข้าก็จะเรียกเงินจากผู้ส่งออก อันนี้แสดงให้เห็นได้ชัดเจน ว่ามาตรการเพิกถอนนั้นไม่ควรนำมาใช้ในธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อน และกลไกควบคุมด้วยระบบต่าง ๆ ซึ่งท้ายสุดมีผลกระทบในภาพรวมของประเทศเช่นกัน
เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปบนพื้นฐานของความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การออกกฏระเบียบควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เช่น ถ้าผู้ส่งออกปฏิบัติผิดระเบียบ สาเหตุเกิดจากเจตนาทำผิด หรือ ความผิดมาจากต้นเหตุคือ แหล่งที่มาควบคุมด้วยระบบ ซึ่งเกิดความผิดพลาดได้นั้น บทลงโทษควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และมาตรฐานสากล เป็นไปตามฐานความผิดและเจตนาที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ(ที่มีความรู้ประสบการณ์ เป็นธรรม ไม่มีผลได้ผลเสียกับทุกฝ่าย)อย่างละเอียดรอบคอบ
ผมในฐานะผู้ส่งออก ที่ประกอบธุรกิจด้านนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีกฏระเบียบ มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่เห็นด้วยกับร่างระเบียบและประกาศในส่วนของบทลงโทษ ซึ่งควรมีการตีความและปรับเปลี่ยนการใช้อำนาจของอธิบดีกรมวิชาการเกษตรในการเพิกถอนใบอนุญาต มาเป็นค่าปรับเหมือน ๆ กับนานาประเทศ รวมทั้งในอียูแทน อีกทั้งควรมีการกำหนดในรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อผู้ปฏิบัติและถูกปฏิบัติในภายหลังการประกาศใช้ระเบียบและประกาศบนพื้นฐานของความถูกต้อง เท่าเทียมเป็นธรรม โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดรายละเอียดนั้น
ในขณะที่ผมได้รับ Mail จาก ผู้ประกอบการ (ขนส่งในการส่งออกผักสดและผลไม้สด) ซึ่งผมตัดบางส่วนบางตอนมาให้อ่านกัน ณ วันนี้คนที่อยู่และรับผิดชอบในงานหน้าที่ต่างคนต่างหาทางเอาตัวรอด บางท่านก็ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยว ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกเพราะกลัวมีผลกระทบต่อสายงาน หรือองค์กรที่ตัวเองทำอยู่หรือเป็นเจ้าของอยู่ นั่นหมายถึงอาชีพ หรือธุรกิจที่ลงทุนไปมหาศาล และผลกระทบหากเกิดขึ้นนั่นก็หมายความว่าพังราบเป็นหน้ากอง ลองอ่านดูครับ
“ผมใคร่ขอเสนอความเห็นในบางประเด็นสำหรับการแก้ไขปัญหาการส่งออกผักสด และผลไม้ไทยไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือรวมถึงทั่วโลก ผมตั้งข้อสังเกตุว่า การแก้ไขปัญหาของกรมที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการ หรือโรงงานเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงนั้นผู้ประกอบการไม่ได้เป็นผู้ปลูกพืชผัก และผลไม้ เกษตรกรต่างหากเป็นผู้ปลูกพืชผัก และผลไม้ ส่วนผู้ประกอบหรือโรงงานเป็นผู้จัดการผลผลิตเหล่านั้นให้มีกระบวนการที่ถูกต้อง ตามหลักสากลและมาตราฐานการคัดบรรจุ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงหลายปีเกี่ยวกับการส่งออกผักสด และผลไม้ ไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป นั้นคือปัญหาเรื่องของ สารพิษตกค้างและเชื้อจุลอินทรีย์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การระงับการนำเข้าจากประเทศไทย การมาเยือนของคณะกรรมาธิการเกษตรชุดต่างๆ จากสภาพยุโรป และการประชุมร่วมต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ก็มิสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง และปรากฏผลในทางที่ดีขึ้น กลับตรงกันข้ามเหตุว่าหลังการเยือนของคณะกรรมาธิการเกษตรชุดต่างๆ ทางกรมวิชาการเกษตรกลับมีกฏระเบียบต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายเพื่อใช้บังคับกับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและผู้นำเข้าลดปริมาณในการสั่งซื้อในบางส่วน ผมเห็นว่าการที่ไม่มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนอันเกี่ยวข้องกับการที่จะ ควบคุมปริมาณสารพิษตกค้าง และเชื้อจุลอินทรีย์ ในพืชผัก และผลไม้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเจราจากับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการเกษตรได้ เพราะไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ การที่เจ้าหน้าที่กลุ่มสภาพยุโรปยังเล็งเห็นว่า ขณะที่ประชากรในประเทศของเราเอง ยังต้องบริโภค ผักสดและผลไม้ที่เต็มไปด้วยสารพิษตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์อยู่นั้น ประชากรในประเทศของเขาเหล่านั้นจะมั่นใจในความปลอดภัยของพืชผัก ผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศของเราได้อย่างไร ( เมื่อเรายังไม่รักตัวเราเอง เราจะไปรักผู้อื่นได้อย่างไร ) หากเรามีนโนบายที่ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านั้นมั่นใจว่าประชากรภายในประเทศของเรา ต้องบริโภคพืชผักผลไม้ที่มีการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง และพบค่าตกค้างของสารเคมีในพืชผักผลไม้ ที่เป็นไปตามมาตราฐานสากลปัญหาก็จะถูกแก้ไข ความเชื่อมั่นในผลผลิตทางการเกษตรของประเทศก็จะกลับมา ซึ่งก็จะนำไปสู่ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศ”
อ่านดูแล้วก็ให้รู้สึกขึ้นมาทันทีว่าสิ่งที่ท่านนี้พูดถึงเป็นความจริงที่หลายมองข้าม ยังไม่หมดนะครับท่านผู้นี้เสนอแนวทางแก้ไขไว้น่าสนใจดังนี้ครับ
“เหตุใดจึงไม่มีการนำเสนอโครงการนำร่องในพื้นที่เพาะปลูกพืชผัก ซึ่งมีการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเป็นพื้นที่เพาะปลูกซึ่งมีการควบคุม ให้เป็นไปตามหลัก GAP ซึ่งคิดว่าสามารถปฏิบัติได้ในบางพื้นที่ อย่าง เช่น นครปฐม อยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ ก็ล้วนเป็นพื้นที่หลักในการปลูกพืชผัก ที่ใช้ในการส่งออกอยู่ ณ ปัจจุบันอยู่แล้ว ซึ่งหากสามารถกำหนดพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นจุดยุทธศาตร์ ในการเพาะปลูกพืชผัก เพื่อการส่งออกและมีการควบคุมอย่างถูกต้องทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก จะมาซื้อพืชผัก จากพื้นที่ที่มีการควบคุมนี้เพื่อการส่งออก โดยที่ผู้ประกอบ และผู้ส่งออก ไม่ต้องไปลงทุนในการเพาะปลูกพืชผักเพื่อส่งออกเอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริง”
ผมเองเคยได้ร่วมการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดนครปฐม ก็ได้เสนอแนวทางในการทำเกษตรอินทรีย์ไว้มากพอสมควร หลายเดือนก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่ง ถามผมว่าเห็นด้วยกับการทำGlobal GAP หรือไม่ ? เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นัดกับเจ้าของสวนอาหาร แถว ๆ มุมถนนบรมราชชนนีตัดกับถนนราชพฤษ์ นั่งรัปทานอาหารกันและสนทนากันถึงเรื่องวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ตอนหนึ่งผู้ประกอบการท่านนี้เอ่ยว่า ท่านไม่รับประทานถั่วฝักยาว เพราะพี่สาว(เป็นเกษตรกร)บอกว่า “ถั่วฝักยาว เกษตรกรปลูกเองแต่ไม่รับประทานเอง” นี่เป็นเครื่องยืนยันถึงสาเหตุที่ท่านผู้ประกอบการเขียนมาในวงเล็บว่า “เมื่อเรายังไม่รักตัวเราเอง เราจะไปรักผู้อื่นได้อย่างไร”
และท้ายของเมล์เป็นคำถามที่น่าสนใจลองอ่านดูครับ
“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ จะนำเสนอความจริง และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็นกับทางภาครัฐ หรือ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ยังคงเงียบ และยอมรับในกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ จากทางภาครัฐ จนต้องยอมเลิกอาชีพ หรือปิดโรงานกันไป”
สิ่งที่เกิดขึ้นและคำถามที่ผมเก็บมาเล่าสู่กันฟังล้วนมาจากสาเหตุจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งสิ้น แต่ที่สุดก็มาลงโทษที่ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ อันนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมหลายท่านในกรมมีข้ออ้างต่าง ๆ นา แต่ถ้าทุกคนมีข้ออ้างเหมือนกันหมด สุดท้ายเราก็ส่งผักและผลไม้ไปขายที่ไหนไม่ได้ ผมเห็นด้วยกับผู้ประกอบการรายดังกล่าวที่ควรจัดทำแผนแม่บทให้ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน อย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองลงมาดูเลยครับเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้ว่าผักผลไม้จะเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรรายย่อย แต่มูลค่าไม่เร้าใจ ทำแล้วคะแนนนิยมไม่ขึ้น สู้พืชหลัก ๆ ไม่ได้ เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสัมปะหลัง หรือถ้าเป็นผลไม้ก็สู้ ลำไย มังคุด ลองกอง ทุเรียน ไม่ได้ เพราะช่วยแล้วเห็นน้ำเห็นเนื้อ
ผมเห็นว่าผู้ที่รับผิดชอบระดับสูงสุดของประเทศต้องกำหนดเป็นนโยบายหลักที่มีเกษตรกรมีส่วนร่วม ทุกวันนี้มีคณะกรรมการหลายชุด แต่เชื่อหรือไม่ว่าเกษตรกรไม่ได้ออกความคิดเห็นเลย เวลานั่งโต๊ะประชุมกัน มีนักวิชาการ มีปลัด มีอธบดี มีผู้อำนวยการ หัวหน้าหน่วยงานเต็มไปหมด มีหัวหน้ากลุ่มเกษตรกร อยู่ 2-3 คน มานั่งเป็นพระอันดับพูดไม่ทัน ไม่รู้จะเสนอความคิดเห็นอะไร เพราะไม่ถูกหลักการบ้าง ไม่สามรถปฏิบัติได้ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีคน จิปาถะที่สุดก็พิจารณาตามท่าน ๆ ทั้งหลายที่เสนอความคิดเห็น(ที่จริงไม่ต้องประชุมก็มีคำตอบมาแล้ว,มาเพื่อเซนต์เอกสารรับรองการประชุมผ่านทางเบี้ยประชุม)ที่ผมพูดนี่ไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาพูดลอย ๆ เป็นคณะกรรมการกับเขาด้วย เข้าไปถึง บางทีหัวหน้ากลุ่ม ประธานกลุ่มเกษตรกร ไม่มาเพราะมาแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร รถก็ติด ที่สุดก็อ้างติดธุระโน่นบ้างนี่บ้างไม่ได้เข้าร่วม สุดท้ายผลก็ออกมาอย่างที่เห็นๆ
จากเมล์อีกฉบับซึ่งผมได้พยายามติดต่อและขอความกรุณาจาก อาจารย์ ดร.กาญจนา สุทธิกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ นักวิชาการ และนักประฏิบัติการที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้อยู่ห่างไกลวิชาการ เพื่อให้ท่านรบกวนช่วยสอบถามอาจารย์ของท่านที่ไต้หวันว่าเขาทำอย่างไรกับปัญหาเหล่านี้ รัฐเข้ามาช่วยอย่างไร ผมได้รับความเมตตาจากท่าน และรศ.ดร.เชี่ย ชิ่น ชาง ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยจงชิน สรุปใจความว่า
“จากประเด็นที่อาจารย์ถามถึงเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลไต้หวันที่มีต่อภาคการส่งออกมะม่วงในแง่ของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องสารเคมีตกค้าง สรุปได้ดังนี้
1. ผู้ส่งออกและชาวสวนจะทำข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบของสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่รายละเอียดของสัญญาประกอบด้วยพื้นที่การผลิต ปริมาณผลผลิต มาตรฐานผลผลิต และราคา ในฤดูกาลที่กำลังจะเก็บเกี่ยว
2. ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบโดยตรง
3. หน่วยงานของรัฐบาลจัดทีมงาน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการตลาด เป็นต้น) ตระเวณช่วยชาวสวนทุกพื้นที่ที่ได้ส่งข้อมูล (ในข้อที่1)ไปให้โดยเน้นที่การให้ความรู้และการแก้ปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดต่างประเทศ
4. สุ่มตัวอย่างผลผลิตมาตรวจสารเคมีตกค้างก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ถ้าผ่านการตรวจสอบ (โดยรัฐบาลเป็นผู้รับรอง) จึงจะสามารถสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจสารเคมีตกค้างในครั้งที่สองได้
5. ตรวจสารเคมีตกค้างครั้งที่สองและต้องรีบทำให้เสร็จเร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าผ่านการตรวจสอบแล้วจึงจะสามารถนำมะม่วงไปอบไอร้อนได้และสามารถส่งออกได้ต่อไป
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสารเคมีตกค้างรัฐบาลและผู้ส่งออกจะช่วยกันออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง
ข้อมูลหลักๆสรุปได้ตามนี้ ทั้งนี้ได้แนบข้อมูลจาก รศ.ดร.เชี่ย ชิ่น ชาง ซึ่งเป็นต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือมาให้เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูลด้วย”
ผมเอาเมล์มาลงให้อ่าน แล้วลองดูประเทศที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่าประเทศไทย มีภัยธรรมชาติสูงกว่า ค่าแรงสูงกว่าเราหลายเท่าตัว รัฐสนับสนุนอย่างไร? จึงไม่แปลกว่าทำไมไต้หวันซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ เกษตรกรและผู้ส่งออก จึงมีองค์ความรู้ มีจิตวิญญาณ มีระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์ ผลิตเกษตรกร ที่มีความรับผิดชอบสูง ผู้ส่งออก มีความซื่อสัตย์รับผิดชอบ มีวินัย รักษาคุณภาพ ภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุน ประคับประคอง มหาวิทยาลัยร่วมพัฒนาวิจัยในด้านต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กับนโยบายรัฐชัดเจน เข้มข้น เอาจริงเอาจัง เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้พืชผักผลไม้ของเขาส่งเข้าขายแข่งขันในเวทีโลก หากประเทศไทยเป็นอย่างนั้น ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่เหนือกว่าในทุก ๆ ด้าน และหากจะให้ประเทศไทยกลายเป็นครัวของโลกที่มั่นคงยั่งยืนทำได้ไม่ยากครับ!!! ในขณะเดียวกัน หากยังมีฐานคิดที่แบ่งแยกกันอยู่เป็นส่วน ๆ ไม่มองผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่นานเกินรอ “สารพิษตกค้าง ฤๅจะเป็นปัญหาที่เข้าตาจน”
.....................................................
อ้างอิง:
http://as.doa.go.th/psco/index.php?option=com_content&view=article&id=67:-9--2553
https://sites.google.com/site/centrethailandaisenfrance/announcements/speedingproblem
http://as.doa.go.th/ard/service/service_42.pdf